ทำไมกฐินต้อง "สามัคคี"
top of page

ทำไมกฐินต้อง "สามัคคี"


งานบุญกฐิน
ทำไมกฐินต้อง "สามัคคี"

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมข้อความบนป้ายประกาศจัดงานบุญกฐินตามวัดต่างๆ มักมีคำพ่วงต่อท้ายด้วยคำว่า ”สามัคคี” สามัคคีในที่นี้คือความสามัคคีของใครกัน หรือเป็นเพียงข้อความที่ช่วยให้ประโยคนั้นสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น วันนี้ต้นธรรมจะมาคลายข้อสงสัยให้ทุกคนได้ทราบกัน ว่าจริงๆแล้วความหมายของคำว่า “กฐินสามัคคี” มาจากอะไร


ก่อนที่เราจะไปพูดถึงความความหมายของกฐินสามัคคี เราจะมาอธิบายความหมายของงานกฐินกันก่อน งานกฐินเป็นพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง ซึ่งจะจัดขึ้นเพียงปีละ 1 ครั้ง เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง 15 ค่ำ เดือน 1 หรือเป็นช่วง 30 วันหลังจากวันออกพรรษา เป็นงานบุญที่ผูกติดกับการเข้าพรรษาและการออกพรรษา เนื่องจากการเข้าพรรษาเป็นการทำความเพียรของพระ ซึ่งหลายวัดก็มีเป็นจำนวนมากหลายรูป เมื่อพระได้ทำความเพียรทั้งเรียนทั้งศึกษาจนครบสามเดือนแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรอนุโมทนา แล้วยิ่งพระในวัดอยู่ด้วยกันอย่างราบรื่น เรียกว่ามีความสามัคคีกันก็เป็นเรื่องที่ยิ่งน่าอนุโมทนาเข้าไปใหญ่


แล้วทำไมกฐินต้องสามัคคี? การทอดกฐินมีจุดมุ่งหมายสำคัญก็คือ เพื่อเชิดชูสามัคคีธรรมในหมู่สงฆ์ที่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสได้อย่างราบรื่น แต่ด้วยคนไทยสมัยก่อนก็ถือว่าเป็นโอกาสของการเสริมสร้างสามัคคีธรรม ไม่ใช่เฉพาะพระสงฆ์เท่านั้น แต่รวมไปถึงสามัคคีในหมู่ญาติโยมด้วย การทำบุญกฐินเป็นงานใหญ่ เป็นการเสริมสร้างกระชับความสัมพันธ์ในหมู่ญาติโยม แต่ก่อนญาติโยมที่มาร่วมบุญกฐิน หรือว่าเป็นเจ้าภาพกฐินนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็เป็นชาวบ้านรอบวัด บางทีก็อาจจะมีชาวบ้านจากที่ไกลๆ มาร่วมเป็นเจ้าภาพ แต่ก็ไม่ทิ้งหัวใจของงานบุญกฐินก็คือความสามัคคี เพราะว่าจะจัดงานนี้ได้ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน แล้วก็มีสิ่งที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ อาจจะมีมหรสพ อันนี้ก็เป็นตัวหล่อลื่นความสัมพันธ์ของผู้คน โดยเฉพาะจากต่างถิ่นให้มามีความสมัครสมานรักใคร่สามัคคีกัน แต่มันก็ไม่ได้มีเท่านั้น ตัวงานการเอง การจัดเตรียมงานกฐินก็เป็นสิ่งที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้แนบแน่น


โดยเฉพาะกฐินที่เรียกว่าจุลกฐินนี่ต่างจากมหากฐิน มหากฐินคือกฐินที่เราทำกันทั่วไปที่บางทีเราก็เรียกกฐินสามัคคี หรือกฐินที่มีเจ้าภาพเป็นรายบุคคล หรือว่ามีเฉพาะเจ้าภาพเป็นรายเดียว จุลกฐินแท้ที่จริงแล้ว ทำแล้วเกิดมหากุศลยิ่งกว่ามหากฐินด้วยซ้ำ เพราะว่าต้องอาศัยความสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่น เนื่องจากจะต้องทำทุกอย่างทุกกระบวนการให้เสร็จภายในวันเดียว เริ่มตั้งแต่เก็บฝ้ายมาปั่นเป็นด้าย จากด้ายก็มาทอเป็นผ้า พอทอผ้าเป็นผืนก็ต้องมาตัดเย็บ แล้วก็ย้อมให้เป็นสบงมั่งหรือว่าจีวรบ้าง หรือว่าสังฆาฏิบ้าง


และนี้ก็เป็นที่มาของคำว่า “กฐินสามัคคี” เพราะประเพณีอันยิ่งใหญ่นี้ต้องอาศัยความสามัคคีของชาวบ้านเพื่อให้งานกฐินสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้โดยดี


อ้างอิงจาก : พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 15 ตุลาคม 2565

ดู 9 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page